595 จำนวนผู้เข้าชม |
“ปวดหลัง ร้าวลงขา” สัญญาณเตือน โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือไม่⁉️ มาดูคำตอบได้จาก…
นพ.คมกฤช วัฒนไพบูลย์ศัลยแพทย์กระดูก และข้อ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
อาการของ โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง กดทับเส้นประสาทเป็นอย่างไรบ้าง⁉️
พบบ่อยสุดเลยคือ ปวดหลังช่วงเอว อาจร้าวลง สะโพก หรือ ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาไอ หรือจาม หรือเบ่ง
กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสะโพกกล้ามเนื้อในการกระดกข้อเท้า รวมทั้งปลายนิ้วหัวแม่เท้า ขึ้นกับว่าเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังที่ตำแหน่งไหน
ชา โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่เท้า ด้านนอกของขา หรือฝ่าเท้า เช่นเดียวกัน ขึ้นกับว่าเป็นโรคหมอนรองที่ปล้องไหน
ระบบขับถ่ายผิดปกติ กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีความผิดปกติของระบบขับถ่ายร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน
การรักษา โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท มีอะไรบ้าง⁉️
1. ลดน้ำหนัก พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น
▪️ การยกของหนัก ลดน้ำหนักในการยกแต่ละครั้ง และยกให้ถูกท่า
▪️ การนั่งรถยนต์ หรือ นั่งทำงาน เป็นเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งทำงานต้องถูกตามหลักสรีระ
▪️ ระวังหากท้องผูกหรือเบ่งถ่ายอุจจาระแรงเกินไป เนื่องจากจะทำให้เกิดแรงดันสูง ทำให้เกิดการแตกของหมอนรองได้
2. ยาต้านการอักเสบ NSAIDS และยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการปวด ไม่ว่าจะในรูปแบบการกิน ทา แปะ spray หรือฉีด
3. ใช้กายภาพบำบัดและใช้ที่พยุงเอว เพื่อช่วยในการลดอาการปวด และ ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วย ซึ่งการกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญ และมีอุปกรณ์หลายอย่างเพื่อลดอาการปวด เช่น
▪️ การใช้เครื่องอัลตราซาวน์และกระแสไฟฟ้า ลดอาการปวด
▪️ การดึงกระดูกสันหลังโดยใช้เครื่องมือ
▪️ การใช้เลเซอร์พลังงานสูงลดอาการปวด และกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
▪️ การใช้คลื่นกระแทกลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ
▪️ การใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็ก PMS กระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวด ชา และอ่อนแรง
4. การฉีดยา block เส้นประสาท เป็นการลดอาการปวดโดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ฉีดเข้าไปบริเวณที่มีโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยใช้เครื่อง X-ray ความเข้มต่ำเป็นตัวนำทางตำแหน่งเข็มอย่างแม่นยำ ใช้ในกรณีที่ปวดมาก
โดยเฉพาะอาการปวดลงขา การรักษาเหล่านี้จะทำควบคู่กันไปขึ้นกับอาการที่ผู้ป่วยเป็นว่ามากน้อยเพียงไหน 80-90% ของผู้ป่วยจะดีขึ้นโดยไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ที่ตั้งสาขาสว่างบริบูรณ์ พัทยา : 111/2 หมู่ 5 ซอยเนินพลับหวาน ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150
ดูแผนที่
ที่ตั้งสาขาเครือสหพัตน์ : 399/31-32 ม.11 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20230
ดูแผนที่