มารู้จัก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และวิธีการรักษา

397 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มารู้จัก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และวิธีการรักษา

บทความโดย : นพ. คมกฤช วัฒนไพบูลย์ 
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

สวัสดีครับ วันนี้หมอจะมาขอเล่าเรื่อง อาการปวดหลังที่เราพบได้บ่อยๆนั่นคือ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนั่นเองนะครับ

บางทีเราคงสงสัยว่า  เอ๊เราปวดหลังจากกล้ามเนื้อธรรมดา น่าไปนวดแล้วจะหายปกติ  แต่ทำไม๊ทำไม ไปนวดหลายครั้งคราวนี้ไม่ดีขึ้น บางทีอาจจะหนักกว่าเดิม หรือ ทำไมปวดครั้งนี้กดจุดมันไม่โดน แต่มันปวดข้างในลึกๆนะ หรือ บางครั้ง มันมีอาการปวดชาร้าวลงขาด้วยนะ หลายๆทีที่ไปรักษาเค้าก็บอกว่าเป็นกล้าเนื้ออักเสบๆ ให้ยามาหลายเดือนละไม่หายสักที แบบนี้มันเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อธรรมดาหรือเปล่า ??

หมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร?

หมอนรองกระดูกสันหลังคือข้อต่อของกระดูกสันหลังนั่นเอง  ตัวกระดูกสันหลังนั้นจะทำหน้าที่เป็นกระดูกแกนกลางของร่างกายที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมด ให้ความแข็งแรงแก่ร่างกาย และเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆ  แต่เพราะว่าระหว่างกระดูกสันหลังของเรามีหมอนรองกระดูกสันหลังคั่นอยู่ จึงทำให้หลังขอเราสามารถก้ม เงย แอ่น และบิดหมุนเอี้ยวตัวได้ การเคลื่อนไหว ของหลังเรา เนื่องมาจากเรามีหมอนรองกระดูกสันหลังนี่หล่ะ  ^^



Cr: https://mdmercy.com/mercy-services/conditions/herniated-disc


แล้วทำไมมันถึงเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังหล่ะ ?   

ส่วนใหญเราจะใช้งานหลังในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานนานๆ ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังได้อย่างไรหล่ะ

ตัวอย่างเช่น เรายกของหนักในท่าที่ไม่เหมาะสม หมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งทำหน้าที่เป็นข้อต่อก็จะมีแรงเค้นเกิดขึ้นมาก บางครั้งมากเกินกว่าที่ตัวมันเองจะทานไหว เหมือนยางรถยนต์ ถ้าเราบรรทุกของหนักเกินไปก็อาจจะเกิดยางระเบิดได้นั่นเอง

Cr: https://www.freevector.com/correct-posture-to-lift-a-heavy-object-safely-illustration-27505#

บางทีคนไข้อาจจะแย้งว่าหมอ ผมไม่เห็นจะได้ไปยกของหนักอะไรเลย นั่งทำงานที่ออฟฟิซทั้งวัน ทำไมถึงปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังได้หล่ะ ??

เพราะว่าท่านั่งมีแรงดันเกิดขึ้นในหมอนรองกระดูกสันหลังมากหน่ะสิ มากกว่าท่ายืนตรงปกติอีก นั่งนานๆไม่เปลี่ยนท่าเลยหมอนรองกระดูกมันถึงพังไง ขับรถนานๆ หรือนั่งทำงานออฟฟิซนานๆ ก็ระวังกันหน่อยนะ ^^”

Cr: https://www.researchgate.net/figure/The-effect-of-posture-to-the-disc-pressure-Disc-pressure-was-measured-between-3-rd-and_fig3_282030360

 

นอกจากนั้นสาเหตุอื่น เช่น น้ำหนักตัวที่มากเกินไป , อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บจากการเล่นก๊ฬา, กรรมพันธุ์ หรือ การมีปัญหาที่ส่งผลต่อแรงที่มาลงที่หมอนรองกระดูกสันหลังก็มีส่วนทำให้เกิดโรคด้วยนะ

 

แล้วอาการของ โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง กดทับเส้นประสาทเป็นอย่างไรบ้างหล่ะหมอ ??

•  พบบ่อยสุดเลยคือ ปวดหลังช่วงเอว  อาจร้าวลง สะโพก หรือ ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้นะ  ซึ่งจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาไอ หรือจาม หรือเบ่ง  บางคนอาจจะไม่บ่นปวดหลังเลยแต่ปวดร้าวลงขามากก็มีนะ

•  กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสะโพกกล้ามเนื้อในการกระดกข้อเท้า รวมทั้งปลายนิ้วหัวแม่เท้า ขึ้นกับว่าเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังที่ตำแหน่งไหน

•  ชา โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่เท้า  ด้านนอกของขา หรือฝ่าเท้า เช่นเดียวกัน ขึ้นกับว่าเป็นโรคหมอนรองที่ปล้องไหน

•   ระบบขับถ่ายผิดปกติ  กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้  ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีความผิดปกติของระบบขับถ่ายร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถฟื้นคืนได้ตามปกติ

แล้วการรักษา โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท มีอะไรบ้างหมอ ??

1. ลดน้ำหนัก พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อาการแย่ลงเถอะ หมอขอ

• การยกของหนัก ลดน้าหนักในการยกแต่ละครั้ง และยกให้ถูกท่า

• การนั่งรถยนต์ หรือ นั่งทำงาน เป็นเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งทำงานต้องถูกตามหลักสรีระ

Cr: https://www.furniture-work.co.uk/blog/office-chairs/ergonomic-chairs-a-guide-for-people-with-bad-posture-at-work/

 

• ระวังหากท้องผูกหรือเบ่ง ถ่ายอุจจาระแรงเกินไป  เนื่องจากจะทำให้เกิดแรงดัน ในหมอนรองกระดูกสูง ทำให้เกิดการแตกของหมอนรองได้

2. ยาต้านการอักเสบ NSAIDS และ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการปวด ไม่ว่าจะในรูปแบบการกิน  ทา แปะ spray หรือฉีด

3. ใช้กายภาพบำบัดและใช้ที่พยุงเอว เพื่อช่วยในการลดอาการปวด และ ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วย

ซึ่งการกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญ และมีอุปกรณ์หลายอย่างเพื่อลดอาการปวด เช่น

การใช้เครื่องอัลตราซาวน์และกระแสไฟฟ้า ลดอากาปวด

 การดึงกระดูกสันหลังโดยใช้เครื่องมือ

การใช้เลเซอร์พลังงานสูงลดอาการปวด และกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ

การใช้คลื่นกระแทกลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ

 การใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็ก PMS กระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวด ชา และอ่อนแรง

หรือศาสตร์แผนไทย นวด ประคบ ปรับสรีระ ศาสตร์แผนจีนพื้นบ้าน ฝังเข็ม กระตุ้นไฟ ครอบแก้ว กัวซา  และ ศาสตร์ทางตะวันตกพื้นบ้านเช่นการทำไคโรแพรคเตอร์  ทั้งหมดนั้นขอจัดอยู่ในหมวดนี้นะครับ ส่วนศาสตร์น้ำมนต์ และ เป่าคาถา อันนี้จะไม่ขอก้าวล่วงนะครับ ^^”

4. การฉีดยา block เส้นประสาท  เป็นการลดอาการปวดโดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ฉีดเข้าไปบริเวณที่มีโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยใช้เครื่อง X-ray ความเข้มต่ำเป็นตัวนำทางตำแหน่งเข็มอย่างแม่นยำ  ใช้ในกรณีที่ปวดมาก โดยเฉพาะอาการปวดลงขา

Cr: https://www.youtube.com/watch?v=jD3VsRvi8UY

การรักษาเหล่านี้จะทำควบคู่กันไปขึ้นกับอาการที่ผู้ป่วยเป็นว่ามากน้อยเพียงไหน  80-90% ของผู้ป่วยจะดีขึ้นโดยไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

5. การผ่าตัด แพทย์จะแนะหาก…

• ผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากจนทนไม่ได้ แม้จะรักษาโดยวิธีข้างต้นแล้ว และกายภาพบำบัดเต็มที่แล้วก็ยังไม่หาย ระยะเวลา อันนี้แล้วแต่ความทนได้ของแต่ละท่าน ตีตัวเลขคร่าวๆ 2-6 เดือน

• ผู้ป่วยมีอาการชา อ่อนแรง เดินไม่ปกติ

•ผู้ป่วย มีปัญหาระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากสาเหตุจากโรคหมอนรองกระด

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้อง ( Endoscopic  Spinal Surgery )

การผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทโดยทั่วไป ศัลยแพทย์กระดูกจะใช้เครื่องมือในการถ่างกล้ามเนื้อ และ ตัดกระดูก เพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก  โดยต้องเปิดแผลผ่านชั้นกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลังอยู่บ้าง และแผลผ่าตัดยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และใช้เวลาการพักฟื้นที่ประมาณ 1 -2 สัปดาห์

แต่การผ่าหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้องนั้น จะสามารถลดขนาดแผลผ่าตัดให้เล็กลงได้ อยู่ที่ประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และลดการเจ็บปวดและพักฟื้นหลังผ่าตัด โดยนอน รพ. หลังผ่าตัดเพียง  1 วัน และใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังเสียเลือดน้อยมากๆ

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง

1. ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ทำให้มีความเจ็บปวดน้อย และลดการเสียเลือด

2. ขนาดของแผลเล็กเพียง 0.8-1 ซม. ซึ่งเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดจะทำให้มีแผลกว้างประมาณ  5 ซม.

                        ถึงแผลจะเล็กแต่เราก็สามารถเอาหมอนรองกระดูกที่กดเส้นประสาทออกมาได้นะ

แผลผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง 1 ระดับ

 

แผลผ่าตัด ผ่านกล้อง 2 ระดับ และเคยมีผ่าตัดแบบเปิดแผลมาก่อน

 

3. พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ซึ่งในบางกรณีอาจจะกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล  ที่อาจต้องเสียเวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์

4. ปลอดภัยและภาวะแทรกซ้อนไม่ต่างจากผ่าตัดแบบปกติ

ข้อเสียของการผ่าตัดส่องกล้อง

• มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กว่าผ่าตัดเปิดแผล ใช้ทักษะพอสมควร ไม่ได้ทำได้ในทุกที่ อุปกรณ์บางอย่างต้องรอนะจ๊ะ

• ไม่สามารถใช้ในกรณีที่กระดูกสันหลังไม่มั่นคง

ก่อนผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้อง

 

1 สัปดาห์หลังผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้อง

 

สอบถามและสำรองคิว
สาขาบางพระ 089-776-0151
สาขาบ่อวิน 061-225-2630
Facebook : Medispine Clinic กระดูกข้อ กายภาพบำบัดครบวงจร ชลบุรี

ที่ตั้งสาขาบางพระ   : 200/29 ม.2 ถ.สุขุมวิท ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110
Google Maps

ที่ตั้งสาขาบ่อวิน  : 276/682 หมู่ 3 ถนนห้วยปราบ-พันเสด็จใน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20230
 Google Maps

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้